ประวัติผ้าขาวม้าไทย ผ้าขาวม้าโลก
ผ้าขาวม้าไทย ผ้าขาวม้าโลก
หากเอ่ยถึงเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นไทย ‘ผ้าขาวม้า’ คือหนึ่งในความภาคภูมิใจที่อยู่กับเรามานานหลายยุคสมัย เกือบทุกท้องถิ่นต้องมีไว้ใช้ จนกลายเป็นผ้าสามัญประจำบ้าน แต่คุณอาจไม่ทราบมาก่อนว่า เบื้องหลังความธรรมดาของผ้าขาวม้านั้น มีที่มาไม่ธรรมดา รวมถึงมีพัฒนาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่น่าทึ่งอย่างยิ่ง
เริ่มจากชื่อของ ผ้าขาวม้า จริงๆ แล้วไม่ใช่ภาษาไทย แต่มาจากเปอร์เซียคำว่า ‘กามาร์บันด์’ (Kamar Band) ซึ่ง ‘กามาร์’ นั้นหมายถึง เอว หรือ ท่อนล่างของร่างกาย ‘บันด์’ หมายถึง การพัน รัด หรือ คาด เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจึงหมายถึง เข็มขัด ผ้าพัน หรือ คาดสะเอว มีงานวิจัยเสนอว่า ‘ผ้าขาวม้า’ เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า ‘กามา’ (Kamar) ซึ่งเป็นภาษาอิหร่านที่ใช้กันอยู่ในประเทศสเปน เพราะในประวัติศาสตร์ ประเทศทั้งสองมีการติดต่อกันมาช้านาน ต่อมาประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางภาษามาด้วย
แล้วคนไทยรู้จักใช้ผ้าขาวม้ามาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีข้อมูลว่าตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวยุคสมัยเชียงแสน โดยได้รับอิทธิพลจากชาวไทยใหญ่ที่ใช้ผ้าขาวม้า โพกศีรษะ ต่อมาผู้ชายไทยใช้ผ้าเคียนเอว (ผูกเอว) และยังประยุกต์ใช้ประโยชน์หลากหลาย เช่น ใช้ห่อเก็บสัมภาระเดินทาง ห่ออาวุธ นุ่งเวลาอาบน้ำ เช็ดตัว ปูนอน ในยุคแรกคนไทยจะเรียกผ้าสารพัดประโยชน์ผืนนี้ว่า ‘ผ้าเคียนเอว’ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘ผ้าขาวม้า’ ในภายหลัง
นานวันก็เกิดการแพร่หลายไปทั่วประเทศ พัฒนาจนกลายเป็นอาภรณ์ผูกพันในวิถีชีวิตแบบไทยๆ โดยแต่ละภาคจะมีลายทอ สีสันเส้นใยแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะทอจากฝ้าย ไหม ด้ายดิบ หรือป่าน ในบางพื้นที่ ขนาดความกว้างประมาณ 3 คืบ ยาวประมาณ 5 คืบ คุณสมบัติที่สำคัญของผ้าขาวม้าคือ เป็นผ้าทอลายทางตรงและขวางตัดกันมีขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอเหมาะ ใช้งานได้หลากหลายสารพัดนึกยิ่งใช้นานยิ่งนุ่ม ซับน้ำได้ดี แห้งเร็ว ทนทานนานนับปี บางประเภทเป็นผ้าทอจากเส้นไหมราคาสูง มักใช้เป็นผ้าพาดไหล่ จนกระทั่งมีการนำผ้าขาวม้ามาเป็นชุดไทยพระราชทานชุดคาดเอว ถือเป็นจุดสำคัญที่ผ้าขาวม้าได้กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ไทย
ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สู่การทอ ย้อมสี ประดิษฐ์ลวดลาย ‘ผ้าขาวม้า’ อันมีเอกลักษณ์ประจำแต่ละท้องถิ่น เป็นของดีประจำจังหวัด สร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน อาทิ
- ผ้าขาวม้ากาญจนบุรี บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง ออกแบบการทอให้ลวดลายสะดุดตายิ่งขึ้น ด้วยการเลือกใช้ไหมประดิษฐ์สีสดๆ สารพัดสี อนุรักษ์ลวดลายแบบโบราณ เช่น ลายตาจัก ซึ่งมีเฉพาะที่บ้านหนองขาว มีการทอเก็บยกลายตลอดทั้งผืน และทอได้เฉพาะผู้ที่มีความชำนาญเท่านั้น จึงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในนาม ‘ผ้าขาวม้าร้อยสี’นอกจากลายตาจักแล้ว ยังมีลายอื่นๆ ได้แก่ ลายหมากรุก ลายตาคู่ ลายตาเล็ก
- ผ้าขาวม้าพระนครศรีอยุธยา จุดเด่นคือลวดลายคละสลับกันเป็นตารางหมากรุกประมาณครึ่งนิ้ว และมีสองสีสลับด้าน ด้านตามยาวของปลายทั้งสองข้าง ทำเป็นลายริ้วสลับสีกัน เช่น ขาวแดง แดงดำ ขาวน้ำเงิน
- ผ้าขาวม้าชัยนาท เป็นผ้าทอด้วยไหมประดิษฐ์ โทเร และฝ้าย แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะนิยมทอด้วยโทเร ทอเป็นลายสก๊อต ลายทางหรือลายสี่เหลี่ยม ผ้าขาวม้าที่โดดเด่นคือของตำบลเนินขาม อำเภอหินตา มีชื่อว่า ‘ผ้าขาวม้า 5 สี’ คือ สีแดง เหลือง ส้ม เขียว ขาว ซึ่งจะทอแบบเดียวกับผ้ามัดหมี่ คือการมัดแล้วย้อมเป็นสีต่างๆ
- ผ้าขาวม้าลพบุรี อำเภอบ้านหมี่ จัดได้ว่าเป็นแหล่งทอผ้าพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะผ้าดั้งเดิมของอำเภอบ้านหมี่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะชาวบ้านหมี่เป็นชาวไทยพวนที่อพยพมาจากประเทศลาว ผ้าขาวม้าของที่นี่จึงเป็นผ้าที่มีลวดลาย สีสันสวยงามและเป็นผ้าทอมือที่มีความประณีตมาก
• ผ้าขาวม้าราชบุรี ส่วนใหญ่จะทอ 2 ลวดลาย คือ ลายหมากรุกและลายตาปลา เป็นผ้าขาวม้าที่สวยงาม ราคาถูก สีไม่ตก รู้จักกันในชื่อ ‘ผ้าทอบ้านไร่’ และในปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยโดยคนรุ่นใหม่ ในชื่อ ‘Pakamian’ที่ภาคอีสาน จะเรียกผ้าขาวม้าว่า ผ้าแพร ผ้าแพรอีโป้ ผ้าขาวม้า ซึ่งในอีสานจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ผ้าแพรขาวม้า มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายตาหมากรุกและผ้าแพรไส้ปลาไหลหรือผ้าแพรลิ้นแลนและในพจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน ก็จะเรียกว่าผ้าขัดด้าม ผ้าขาวด้ามหรือผ้าด้าม - ผ้าขาวม้าศรีสะเกษ ได้รับอิทธิพลมาจากลาว จะมีการทอด้วยไหมและฝ้าย ผ้าขาวม้าที่ทอด้วยผ้าไหมจะทำในโอกาสพิเศษหรืองานพิธีสำคัญเท่านั้น จะทอเป็นลายเส้นขัดตารางหมากรุก
- ผ้าขาวม้าสุรินทร์ ปัจจุบันมีการทอมากที่กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ บ้านเขวาสินรินทร์ ชาวสุรินทร์มักใช้ผ้าขาวม้าในการแต่งกายประจำจังหวัด ในพิธีกรรมที่สำคัญตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายจะมีผ้าขาวม้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ลายผ้าขาวม้าของจังหวัดสุรินทร์เป็นผ้าลายตารางสีแดงดำ เขียวเข้ม และชาวสุรินทร์จะมีผ้าขาวม้าประจำตระกูล ผู้อาวุโสมักจะมอบผ้าขาวม้าไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานก่อนสิ้นบุญ
- ผ้าขาวม้ามหาสารคาม ที่มีชื่อเสียงคือบ้านหนองหิน ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง เอกลักษณ์โดดเด่น คือทอมือสีธรรมชาติ พัฒนาลวดลายให้ทันสมัย มีคุณภาพดีจนส่งไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นในนาม ‘ศิลาภรณ์’ และยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ผ้าห่ม เป็นต้น
- ผ้าขาวม้าขอนแก่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความวิจิตรพิสดารตระการตา ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เป็นลายเฉพาะของผ้าขาวม้าจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นลาย ‘หมี่กง’ อันเป็นต้นแบบและเป็นลายเก่าแก่ของผ้าเมืองขอนแก่น เน้นที่สีม่วง แดง เขียว ซึ่งจัดเป็นสีดั้งเดิมของผ้าขาวม้าขอนแก่น และทำการทอลักษณะแบบ 3 ตะกอจึงทำให้ผ้าหนาเนื้อแน่นภาคเหนือ เรียกผ้าขาวม้าว่า ผ้าหัว ผ้าตะโก้งหรือตาโก้ง ซึ่งหมายถึงผ้าลายตาราง ผ้าเตี่ยว
- ผ้าขาวม้าแพร่ พบในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสูงเม่น อำเภอสอง และอำเภอร้องกวาง การทอลักษณะแบบ ‘จก’ ที่บริเวณของผ้าขาวม้าด้วย เรียกว่า ‘ผ้าขาวม้ามีเชิง’ เชิงของผ้าขาวม้าจะมีเทคนิคการจกลวดลายเพิ่มเติมเข้าไปในตัวผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นลายหมากรุกหรือลวดลายเรขาคณิตทั่วไป ส่วนลายที่จกจะเป็นลายสัตว์ตามคตินิยมความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละกลุ่มชน เช่น ลายนก ลายช้าง ลายม้า เป็นต้น
- ผ้าขาวม้าน่าน การทอผ้าของชาวน่านมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษดังปรากฏภาพฝาผนังในวัดภูมินทร์ จะเรียกกันว่า ‘ผ้าตะโก้ง’ ส่วนมากมักนิยมทอด้วยฝ้าย เส้นฝ้ายนั้นทำเองตั้งแต่ปั่นฝ้าย ย้อมสีจากเปลือกไม้กลัด ไม้ประดู่ มะเกลือ ใบสัก เป็นต้น เดิมจะนิยมทอผ้าขาวม้าเป็นสีแดงดำ ซึ่งเป็นสีดั้งเดิม แต่ปัจจุบันนิยมทอผ้าขาวม้าให้มีสีคลาสสิกมากยิ่งขึ้น โดยเน้นสีเขียว ฟ้า น้ำตาล เป็นสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติบริเวณชายผ้ามักจะจกลายช้าง ลายม้า ลายเจดีย์ ลายยกดอก ลวดลายที่ทอเน้นเกี่ยวกับความเชื่อ ความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ใช้และแล้วก็มาถึงยุคใหม่ของผ้าขาวม้า จากผ้าธรรมดาสี่เหลี่ยมถูกนำมาใส่ไอเดีย แปลงโฉมกลายเป็นสิ่งต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วนทั้งเกี่ยวกับสุขภาพ แฟชั่น ของแต่งบ้าน ไปจนถึงอุปกรณ์ไฮเทค ตัวอย่างเช่น
- สงกรานต์เมษา ผ้าขาวม้ารวมไทย ‘ม่วนสงกรานต์ ล้านนา’ ปี 2556 ถือเป็นปีทองของ ‘ผ้าขาวม้า’ โดยกระทรวงวัฒนธรรม จัดงานสงกรานต์โดยนำผ้าขาวม้ามาเป็นไฮไลท์สำคัญที่กรุงเทพฯ ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสถึงผ้าขาวม้าซึ่งเคยคิดว่าเป็นของเชย เช่น มีขบวนมหาสงกรานต์ผ้าขาวม้ารวมไทย การประกวดแฟชั่นดีไซน์ ‘แฟชั่นจ๋า ผ้าขาวม้าสไตล์’ เดินแฟชั่นบนแคทวอล์กผ้าขาวม้ายาวที่สุดแห่งปี และชวนให้มาเต้น ‘แฟลชม็อบผ้าขาวม้า 3 ช่า’ งานนี้จุดประกายให้ผ้าขาวม้ากลายเป็นกระแสใหม่ที่ได้รับการยอมรับในวงการแฟชั่นอย่างกว้างขวาง
- ผ้าขาวม้าประยุกต์ จากความชอบในลายตารางบนผืนผ้าขาวม้า คุณฉัตรี ชุติสุนทรากุล จึงเกิดไอเดียในการนำผ้าขาวม้ามาสู่การผลิตเป็นสินค้าให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่สามารถจับต้องผ้าขาวม้าได้และเกิดการใช้งานอย่างภาคภูมิ ภายใต้แบรนด์ ‘nim’s’ ซึ่งสินค้าทุกชิ้นจะใช้ผ้าแคนวาสผสมกับผ้าขาวม้า ผลิตภัณฑ์มีทั้งกระเป๋าสำหรับใส่เครื่องสำอาง กระเป๋าโน้ตบุ๊ค ซอฟเคส รวมถึงไอแพดเคส สามารถใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างประเทศและกลุ่มวัยรุ่นคนไทย
- ผ้าขาวม้าสู่สากล ด้วยความคิดอยากหาไอเดียทำธุรกิจ นายพรเทพ แซ่ลี้ อดีตนักข่าว เห็นเสน่ห์ของผ้าขาวม้าไทย ซึ่งคนต่างชาติก็มองเห็นเป็นลายสก๊อตและมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว จึงนำมาพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมายไม่รู้จบในชื่อ ‘บุษบา’ ตั้งแต่กระเป๋า ตุ๊กตา เสื้อผ้า และของแต่งบ้านที่น่าสนใจมากคือ เคสโทรศัพท์และแท็บเล็ต อนาคตยังตั้งใจคิดค้นต่อให้กลายเป็นกระเป๋าเดินทาง ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ส่งออกอีกด้วย
จากผ้าธรรมดาๆ ที่ใช้ในครัวเรือนบ้านไทย วันนี้ ‘ผ้าขาวม้า’ ผ่านกาลเวลาวัฒนธรรมมาหลายยุคสมัย ผ่านความคิด จิตวิญญาณ จนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งซึ่งแสดงความเป็นไทย และยังก้าวไกลสู่สากลได้อย่างภาคภูมิ…มาใช้ ‘ผ้าขาวม้า’ กันนะครับถ้าเป็นแบบนี้นะทิดเป้ขอบอกคำเดียวว่าอย่างนี้ก็มีด้วยครับๆๆๆๆๆ
ที่มาข้อมูล : บทความวิชาการ วัฒนธรรมสร้างสรรค์มนต์เสน่ห์แห่งผืนผ้าลายตาราง นามว่า “ผ้าขาวม้าสารพัดนึก” Creative Culture: the Wonderful and Versatile Pakama โดย ดร.ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว