ธง เป็นสัญลักษณ์ความเชื่อของคนไทยและคนในดินแดนอุษาคเนย์
ซึ่งมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมของผี พราหมณ์และพุทธ ที่หลอมรวมกัน
ธง เป็นภาษามาตรฐานในประเทศไทย
ภาคอีสาน เรียกว่า ธุง
ภาคเหนือ เรียกว่า ตุง
ชาวไทยใหญ่ เรียกว่า ตำข่อน
ประเทศพม่า เรียกว่า ตะขุ่น
ประเทศลาว เรียกว่า ทง หรือ ทุง
ธุง เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งนิสัยไม่ดีร้ายหรือสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็นหรือภูตผีวิญญาณที่จะมารบกวนงานบุญ หากเห็นธุงแล้วจะถอยออกไป พร้อมกันนั้นยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ว่ามีการทำบุญและมีพิธีการสำคัญให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง
วิทยา วุฒิไธสง(2561) ได้แบ่งประเภทของธุงอีสาน 6 ประเภท คือ ธุงราว ธุงไชย ธุงสิบสองราศี ธุงเจดีย์ทราย ธุงไส้หมู และธุงใยแมงมุม
ธุงใยแมงมุม มีลักษณะสำคัญ คือ ทำด้วยเส้นด้ายหรือเส้นไหมผูกคล้ายใยแมงมุม ทั้งแบบสี่ด้านหรือหกด้าน ทำมาจากเส้นไหมหรือเส้นด้ายหลากหลายสีสันมัดกับไม้ไผ่เหลาแล้ว มัดและม้วนจนเป็นวงรอบคล้ายใยแมงมุมที่โยงไปโยงมา เมื่อเสร็จก็นำมาร้อยเข้าเป็นสายเดียวกันหรือตามรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบให้สวยงาม แล้วจึงนำไปตกแต่งมณฑลพิธีหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
ธุงใยแมงมุม ยังสะท้อนความเชื่อหลายอย่างด้วยกัน อาทิ แทนการเชื่อมโยงวิญญาณหลังความตาย รวมถึงเป็นกุศโลบาย หมายถึง สายใยนำสู่พระธรรม เป็นบุญเป็นกุศลให้คนที่ประดิษฐ์ธุงแมงมุมถวายเป็นพุทธบูชา ได้ยึดเกาะสายใยนี้สู่ภพแห่งพระศรีอริยเมตไตรยหรือสู่นิพพาน เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานขอนแก่น งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี 2562 และ https://isaanrecord.com/2019/04/02/isaan-believe-culture/