ลักษณะทั่วไปของแมลงดานา

ตา (Eye) มีตาใหญ่แข็งนูนกลมรีสีดำเป็นมันวาว 1 คู่ เป็นตารวมคอมพาวนด์อายส์ (Compound eyes) คือประกอบด้วย ตาหกเหลี่ยมเล็ก ๆ หลายร้อยตารวมกันเข้าเป็นตาใหญ่  ไม่มีตาเดี่ยว (Single eye)

ขา (Legs) แมลงดานา มี 6 ขา และขา แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ขาที่ใช้สำหรับจับเหยื่อเป็นอาหาร และขาสำหรับใช้ว่ายน้ำ

ขาคู่หน้าหรือขาคู่ที่ 1  เป็นขาสำหรับใช้จับเหยื่อ ประกอบด้วยค๊อคซ่า (Coxa) และฟีเมอร์ (Femur) ที่ใหญ่และแข็งแรง

ส่วนทิเบีย (Tibia) จะเล็กเรียวโค้งเล็กน้อย ที่ปลายทีเบีย (Tibia) จะมีเล็บเรียวโค้งและแหลมคม  ใช้สำหรับเกาะเกี่ยวจับสัตว์เป็นอาหาร

ขาคู่ที่ 2  และขาคู่ที่ 3  เป็นขาว่ายน้ำ (Swimming legs)  แต่ขาที่ช่วยให้แมลงดานาว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็วคือ ขาคู่ที่ 3 ซึ่งเป็นขาคู่หลังสุดลักษณะของขาคู่นี้กว้าง แบนและบางคล้ายใบพาย ใหญ่และยาวกว่าขาคู่ที่ 1 และที่ 2 มาก  ที่บริเวณด้านข้างของขามีแผงขนที่ไม่เปียกน้ำ  ขึ้นเป็นแถบยาว แผงขนนี้มีหน้าที่ช่วยให้แมลงดานาว่ายน้ำได้รวดเร็วขึ้น  เพราะในขณะที่แมลงดานากำลังว่ายน้ำอยู่นั้น แผงขนจะพองฟู  และกระจายออกมาจากขาทั้ง 2 ข้าง  ช่วยให้ขาที่ทำหน้าที่เหมือนใบพาย  กว้างและใหญ่ขึ้น  สามารถจ้วงหรือวักน้ำได้มากขึ้น  เหมือนกับเวลาเราเอาขนแปรงไปเสริมไว้ที่ด้านข้างของใบพายทั้ง 2 ด้าน  จะทำให้ใบพายกว้างและใหญ่ขึ้น  เวลาพายเรือ ๆ ก็จะแล่นได้เร็วขึ้น  ส่วนขาคู่ที่ 2  เล็กกว่า ขาคู่ที่ 3  มากเป็นขาช่วยว่ายน้ำที่บริเวณด้านข้างของขา มีแผงขนเป็นแถบยาวเช่นเดียวกับขาคู่ที่ 3

สำหรับขาคู่ที่ 2  เป็นขาที่ช่วยขาคู่ที่ 3  เรียกว่าเป็นขาสำหรับช่วยพาย ลักษณะของขาจะเล็กเรียวค่อนข้างแบนแต่ไม่แบน ใหญ่เหมือนขาคู่ที่3  ที่บริเวณด้านข้างทั้ง 2 ด้านจะมีขนค่อนข้างแข็งที่ไม่เปียกน้ำขึ้นเรียงเป็นแผง เช่นเดียวกับขาคู่ที่ 3  แต่แผงขนแคบและสั้นมากกว่า  แมลงดานาสามารถว่ายน้ำได้ว่องไวและรวดเร็วมากที่ปลายทีเบีย(Tibia)ของขาคู่ที่ 2 และ 3 จะมีกรงเล็บที่งอโค้งและแหลมคม 1 คู่

หนวด (Antenna) หนวดสั้นมากมี 4-5 ปล้องแต่เห็นไม่ชัดเพราะหนวดสั้นกว่าส่วนหัวและอยู่ในร่องลึกใต้ตา

ปาก (Mouth)  เป็นปากแบบแทงดูด (pieroing-sucking type) ประกบเป็นท่อยาวโผล่ออกมาจากด้านหน้าของส่วนหัวและมักจะซ่อนเก็บไว้ทางด้านล่างของลำตัวรูปลักษณะคล้ายใบหอกที่ปลายปากจะมี  ลักษณะคล้ายหนามแหลมเรียวสำหรับเจาะเหยื่อ แล้วดูดกิน น้ำเหลว ๆ ในร่างกาย  ของปลา หอย ลูกอ๊อด เกษตรกรทางจังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาทเรียกว่าเหล็กหมาด เวลาจับแมลงดานาเขาจะคอยระมัดระวังไม่ให้แมลงดานาใช้เหล็กหมาดแทงได้  ถ้าใครถูกแทงที่นิ้วหรือที่มือ จะมีอาการปวดตั้งแต่  บริเวณที่ถูกขึ้นไปตามแขนคล้ายถูกแมลงป่องต่อย คนที่แพ้ หน้าตาจะเห่อบวมและมีผื่นขึ้นตามตัว ถ้ารีบไปหาแพทย์อาการก็จะทุเลาเร็ว แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้หายเองจะกินเวลาหลายวัน สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้แมลงดานา  ถ้ากินแมลงดานาเข้าไป จะมีอาการคล้ายคนที่ถูกแมลงดานาใช้เหล็กหมาดแทงเอา ทางภาคอีสานผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ ๆ เขาห้ามกินแมลงดานา  เพราะกินแล้วแสลง บางคนที่ไม่เชื่อขืนกินเข้าไป ถ้าแพ้มากภายใน 3-4 ชั่วโมง เท่านั้นก็จะมีอาการอาเจียน เวียนศีรษะ ขากรรไกรแข็งพูดไม่ได้ แต่ถ้าแพ้น้อยก็จะแสดงอาการอย่างเดียวกันภายในเวลาไม่เกิน 1 วัน ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล  แต่เขาไม่ได้ห้ามตลอดไป ถ้าลูกโตเดินได้แล้วก็กินแมลงดานาได้ตามปกติ สำหรับสารที่แมลงดานาผลิตขึ้นมาจากต่อมกลิ่นนั้น  ยังไม่มีผู้ใด  ศึกษาค้นคว้าและวิจัยกันไว้เลย

ลำตัว ลำตัวขนาด 2-4 นิ้ว ตัวแบนสีน้ำตาลยาวรีคล้ายใบไม้

แมลงดานาตัวผู้  จะมีลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดคือ  ลำตัวกลมป้อมและเล็กกว่าแมลงดานาตัวเมียหางยาวแหลมออกมาเหมือนเดือย  มีกลิ่นหอมฉุนกว่า  แมลงดานาตัวเมีย

แมลงดานาตัวเมีย  ลำตัวแบนและโตกว่าตัวผู้ เมื่อเทียบขนาดกัน  ส่วนท้องจะใหญ่และกว้างกว่า แมลงดานาตัวผู้เพราะมีไข่อยู่เต็มท้อง

แมลงดานาที่โตเต็มที่  จนเป็นตัวแก่แล้วสีของลำตัวจะค่อนข้างดำ โคนขาออกสีเขียว  ส่วนแมลงดานา ที่ยังไม่แก่เต็มที่ สีของลำตัวจะออกสีแดงเรื่อ ๆ ไม่เป็นที่นิยมรับประทานกัน  เพราะไม่มีกลิ่น สีของแมลงดานาจะเปลี่ยนไปตามวัย  คือเมื่อยังอ่อนสีจะออกเขียว  พอโตขึ้นมาอีก สีจะออกแดงเรื่อ ๆ เมื่อโตเต็มที่สีจะค่อนข้างดำ  สำหรับเรื่องสีของลูกแมลงดานา  ยังขึ้นอยู่กับสีของน้ำธรรมชาติในแหล่งอาศัยด้วย  ถ้าน้ำใสสีของแมลงดานาจะเขียวอ่อนมาก  แต่ถ้าน้ำสีค่อนข้างดำ สีของแมลงดานาก็จะเปลี่ยเป็นเขียวคล้ำ เป็นการพรางตัวไม่ให้ศัตรูเห็นได้ง่าย

ปีก (Wings) มี 2 คู่ ลักษณะของปีกคู่หน้าหรือปีกคู่แรกที่ติดกับลำตัวหรือส่วนโคนปีก ค่อนข้างแข็งหรือหนาเรียกว่าโคเรี่ยม(Corium) ส่วนปลายปีก มีลักษณะเป็นแผ่นเยื่ออ่อนบาง ๆ ประกอบด้วยเส้นปีกที่ประสานกันเป็นลวดลายเรียกว่า เม็มเบรน(Membrane) ปีกคู่หน้ามีลักษณะครึ่งหนาครึ่งบาง  คล้ายมีเพียงครึ่งปีกลักษณะของปีกชนิดนี้เรียกว่า เฮมีไลทรอน (hemelytron) ฉะนั้นเขาจึงจัดแบ่งแมลงที่มีปีกแบบนี้ไว้ให้อยู่ในพวกมวนหรือบั๊ค(Bugs) อันดับ เฮมิพทีร่า Order Hemiptera hemi = ครึ่ง pteron = ปีก

ส่วนปีกคู่ที่ 2  หรือปีกคู่หลัง มีขนาดใหญ่ปีกใสลักษณะเป็นเยื่ออ่อนบาง ๆ ทั้งปีก  ประกอบด้วยเส้นปีกที่ประสานกันเป็นลวดลายซ้อนอยู่ใต้ปีกคู่แรกหรือปีกคู่หน้า

ระบบการหายใจ

ที่ปลายท้องของมันจะมีระยางเรียวยาว 2 เส้นคู่มีขนเส้นละเอียดที่ไม่เปียกน้ำ ทำหน้าที่เป็นท่อสำหรับหายใจ  โดยจะใช้จับอากาศไว้ใต้ท้อง หรือช่องปลายสุดทางด้านก้น ที่ท่อผิวน้ำ จะสังเกตเห็นเป็นจุดดำ ๆ คล้ายกับท่อหายใจ ซึ่งเปรียบเหมือนคนที่จะดำน้ำ คือก่อนจะดำเขาจะอมหลอดไม้ที่มีรูกลวงตลอดไว้ในปากแล้วดำลงในน้ำ โดยให้หลอดไม้โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ  เพื่อช่วยให้การหายใจ ทำให้สามารถดำน้ำได้นาน ๆ แมลงดานาก็เหมือนกัน  ส่วนแมลงดานา  ขนาดเล็กที่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่นั้น  จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อดูดออกซิเจน เข้าตัวของมันทางท่อที่อยู่ตรงปลายก้น  โดยมันจะดำผุดดำว่ายโผล่ขึ้นมาจนถึงผิวน้ำอย่างรวดเร็ว พร้อมกับพลิกตัวหงายขึ้น แล้วเวลาหายใจ  มันจะใช้ท่อที่อยู่ตรงปลายก้นโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำส่วนสีของลูกแมลงดานาที่ยังอ่อนอยู่นั้น ขึ้นอยู่กับสีของน้ำธรรมชาติอันเป็นแหล่งอาศัย  คือถ้าน้ำใสตัวจะสีเขียวอ่อน ๆ แต่ถ้าน้ำค่อนข้างจะเขียวแก่ออกคล้ำ ๆ สีก็จะเปลี่ยนเป็นเขียวคล้ำ  เพื่อให้กลมกลืนกับธรรมชาติเป็นการพลางตาไม่ให้ศัตรูมองเห็นได้ง่าย

การเจริญเติบโต (Growth)

มีการเจริญเติบโตแบบแกรดดูอัลเมตามอร์โฟสิด (gradual-metamorphosis) คือมีชีพจักร์ (Life cycle) ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนจนกระทั่งเหมือนพ่อแม่  โดยการเปลี่ยรูปทีละน้อย ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ ไข่ ตัวอ่อน ตัวแก่ การเจริญเติบโตแบบนี้ส่วนมากจะใช้วิธีลอกคราบ  ลักษณะของตัวอ่อนและตัวแต่  จะมีรูปร่างทั่ว ๆ ไปเหมือนกัน  จะต่างกันก็ลักษณะบางอย่าง เช่น ปีก สี อวัยวะอื่น ๆ แต่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็ยิ่งเหมือนตัวเต็มวัยมากขึ้นทุกที

การผสมพันธุ์ (Reproduction) และวางไข่

ฤดูของแมลงดาที่จะผสมพันธุ์กันนั้นเป็นฤดูผน ในราว ๆ เดือน กรกฎาคม ตุลาคม  ในบริเวณที่มีน้ำ เช่น บ่อ สระ หนอง คลอง บึง และในท้องนา ที่มีกอหญ้า ขึ้นโดยตัวผู้จะส่งกลิ่น เพื่อเรียกตัวเมีย ๆ ได้กลิ่นตัวผู้ก็จะผสมพันธุ์กัน  ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดก็มีกลิ่นเฉพาะตัวของมัน  เวลามันจะจับคู่กันตัวผู้จะเกาะอยู่บนหลังตัวเมีย  ที่เกาะอยู่ตามกอหญ้า หรือใบกก ต้นโสน ต้นข้าว  ที่มีความแข็งแรงพอประมาณที่มันจะเกาะอยู่ได้  แล้วตัวเมียจะถ่ายวุ้นออกมา  ซึ่งน้ำวุ้นนี้จะทำหน้าที่ยึดไข่ไว้อย่างดี

แหล่งที่แมลงดานาชอบผสมพันธุ์และวางไข่  ต้องมีน้ำนิ่งระดับน้ำไม่เปลี่ยนแปลงเร็ว และสถานที่นั้นต้องมีอาหารเพียงพอ สำหรับลูกแมลงดา  การวางไข่ส่วนมากจะวางในระดับสูงตั้งแต่ 5-10 นิ้ว  ซึ่งก็แล้วแต่ธรรมชาติของมันหรือสัญชาตญาณของมันว่าปีไหนน้ำจะมากหรือน้อย  ถ้าปีนี้น้ำมากมันก็วางไข่ไว้สูง ถ้าปีนี้น้ำน้อยมันก็จะวางไข่ไว้ต่ำ เป็นต้น

ไข่ของแมลงดาที่ออกใหม่ ๆ จะมีสีน้ำตาล บริเวณส่วนปลายมีจุดที่ยอดและมีขีดสีน้ำตาลด้านข้าง  พออายุมากขึ้นไข่ก็มีสีจางลง ๆ เป็นไข่แก่ พอตัวเมียออกไข่เสร็จแล้วก็ไป ตัวผู้จะทำหน้าที่คอยดูแลรักษาไข่  ถ้าหากตัวเมียอยู่มันจะกินไข่หมด  สำหรับตัวผู้กลางวันมันจะไม่ค่อยโผล่มาให้เห็น มันจะเฝ้าไข่อยู่ใกล้ ๆ แถวกอหญ้านั้นแหละ  ที่เป็นเช่นนี้เพราะกลัวคนจับมัน  และอีกประการหนึ่งไข่มันก็ได้รับความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์อยู่แล้ว  พอตกกลางคืนไม่มีแสงอาทิตย์ไม่มีคนเห็น  ตัวผู้ก็จะขึ้นมากกไข่เพื่อให้ได้รับความอบอุ่น  ตัวผู้จะวนเวียนดูแลไข่อยู่ใกล้ ๆ จนกว่าไข่จะฟักออกเป็นตัว  เมื่อลูกมันหากินได้มันก็จะไป  ในหนึ่งรังของไข่แมลงดาจะมีอยู่ประมาณ 150-200 ฟองขึ้นไป  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ ของแมลงดาแต่ละตัวเป็นสำคัญ

ในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มีบางชนิดจะวางไข่ อยู่บนหลังของมัน จนกระทั่งออกลูกเป็นตัว

อาหารของแมลงดานา

อาหารของแมลงดานาได้แก่ ลูกกบ ลูกเขียด ลูกปลา และสัตว์น้ำ อื่น ๆ ซึ่งมันจับโดยใช้ขาหน้าของมัน  เมื่อมันจับเหยื่อได้แล้วมันจะเจาะลงไปในเนื้อของเหยื่อแล้วปล่อยพิษออกมาทำให้เหยื่อตาย

กลิ่นของแมลงดา

ปรกติต่อมกลิ่นนั้นมีอยู่ในบรรดาพวกมวน เช่น แมลงกระแท้รวมทั้งแมลงดาด้วย  ซึ่งแมลงดานี้มีกลิ่นฉุนของมันโดยเฉพาะ  และก็เป็นกลิ่นที่มนุษย์ชอบเสียด้วย  เพื่อนำมาประกอบอาหารเป็นการชูรสให้น้ำพริก อร่อย ต่อมกลิ่นจะอยู่ที่ส่วนอกด้านข้างของลำตัว ต่อมกลิ่นนี้มีประโยชน์แก่แมลงดาเอง คือ เป็นกลิ่นที่ไม่ถึงปรารถนาของศัตรูของมัน เป็นการป้องกันตัวเองโดยไมให้ตกเป็นเหยื่อของสัตว์อื่น

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :- ไทยเกษตรศาสตร์

Tags: