ผลไม้พื้นบ้าน ขจัดสารพิษ ต้านมะเร็ง

หมากเม่า (หมอชาวบ้าน)
โดย สุภาภรณ์ เลขวัต, อุบลวรรณา ศรีมงคลลักษณ์ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

      หมากเม่า หรือ มะเม่า ผลไม้พื้นบ้านที่ให้ประโยชน์ได้หลายส่วน เป็นอีกหนึ่งตำรับยาไทยที่คนไทยควรรู้จัก

       ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antidesma thwaitesianum Muell.Arg

       ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae

       ชื่อท้องถิ่น : มะเม่า ต้นเม่า (ภาคกลาง) หมากเม่า (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) หมากเม้า บ่าเหม้า (ภาคเหนือ) เม่า หมากเม่าหลวง (พิษณุโลก) มัดเซ (ระนอง) เม่าเสี้ยน (ลำปาง) เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550)

       ลำต้น : หมากเม่าเป็นไม้พุ่มต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร เป็นไม้พื้นเมืองเนื้อแข็ง แตกกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม

       ใบ : เป็นใบเดี่ยว สีเขียวสด ปลายและโคนมนกลมถึงหยักเว้า ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบมันทั้ง 2 ด้าน แผ่นใบกว้าง 3.5-4.5 ซม. ยาว 5-7 ซม. แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มักออกใบหนาแน่นเป็นร่มเงาได้อย่างดี

       ดอก : ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด คล้ายช่อพริกไทย จะออกตามซอกใบใกล้ยอดและปลายกิ่ง แยกเพศกันอยู่คนละต้น ยาว 1-2 ซม. ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

       ผล : ผลหมากเม่ามีขนาดเล็กเป็นพวง ภายใน 1 ผลประกอบด้วย 1 เมล็ด ผลดิบสีเขียวอ่อนหรือเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำในที่สุด ผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวปนฝาดเล็กน้อย

       ระยะเวลาออกดอกและติดผล : ออกดอกและติดผลช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ผลสุกช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

แหล่งเพาะปลูก

      หมากเม่าพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทยมักพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามหัวไร่ปลายนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบได้มากที่เทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร นิยมขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง

คุณประโยชน์

      ผลมะเม่าสุกมีปริมาณสารอาหาร วิตามิน กรดอินทรีย์ และกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด และเมื่อนำผลมะเม่าสุกมาทำการวิเคราะห์ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจำพวกสารแอนโทไซยานินและสารกลุ่มโพลีฟีนอล พบว่า น้ำมะเม่า 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานิน 299.9 มิลลิกรัม และสารโพลีฟีนอล 566 มิลลิกรัม ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ชะลอความแก่ชรา ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดอุดตันในสมอง และช่วยยับยั้งไม่ให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมหรือเปราะง่ายอีกด้วย
Tags: